Friday, 16 May 2025
ECONBIZ NEWS

รัฐผุดมาตรการอุ้มภาคธุรกิจส่งออกตลาดสหรัฐฯ สั่งแบงก์รัฐลดดอกเบี้ย-อัดงบช่วยเหลือผู้ประกอบการ

รัฐผุดมาตรการอุ้มภาคธุรกิจ สั่งแบงก์รัฐลดกำไร-ใส่งบช่วยเหลือผู้ประกอบการ-ลดดอกเบี้ย ตั้งเป้าช่วยธุรกิจส่งออกตลาดสหรัฐ ซัพพลายเชน ผู้ผลิตแข่งขันกับสินค้านำเข้า รับมือวิกฤตกำแพงภาษี 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาเป็นการเร่งด่วนนั้น 

กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 

สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจ Supply Chain และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ภายใต้สภาวะความผันผวนที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่ากลไกสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤต เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว 

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการในทันที คือ โครงการที่ลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ในอัตรา 2-3% คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 2-3 วันนี้ โดยลูกค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการจะต้องมาติดต่อกับธนาคารเท่านั้น จะไม่ได้เป็นการให้ลูกค้าเป็นการทั่วไป

นอกจากนี้ ธนาคารได้เตรียมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นวงเงินใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ โดยโครงการดังกล่าวจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับ Soft Loan ที่จะดำเนินการนั้น จะมีลักษณะเดิมคือ ธนาคารออมสินปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% และให้ธนาคารพาณิชย์ไปดำเนินการปล่อยต่อให้กับลูกค้าของธนาคารต่อไป

‘ดร.กอบศักดิ์’ ถอดรหัส 10% ‘ภาษีทรัมป์’ ชี้แค่ตั้ง ‘กำแพงภาษี’ รายได้สหรัฐฯพุ่งถึง 87.4%

(15 พ.ค.68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “รายได้ศุลกากรสหรัฐเพิ่ม +87.4% !!!” มีเนื้อหาว่า...

รายได้ศุลกากรสหรัฐเพิ่ม +87.4% !!!

หนึ่งในเป้าหมายของ President Trump ในการเข้าสู่สงครามการค้า คือ การหารายได้เพิ่มเข้ารัฐ

หลายคนถามว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นจริงไหม จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จะเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่

ล่าสุด WSJ รายงานจากข้อมูลกกระทรวงการคลังสหรัฐว่าสหรัฐเก็บภาษีอากรนำเข้าจากสินค้าต่างๆ เพิ่มเป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์ ในเดือน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากเดิมเก็บได้ 8.7 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง +87.4%

จากภาษี 25% ที่คิดกับเม็กซิโกและแคนาดา ภาษีเฉพาะ 25% สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอลูมินัม ตลอดจน Reciprocal Tariffs ประมาณ 10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่เริ่มต้นคิดบ้างแล้ว ซึ่งเมื่อเริ่มเก็บกันอย่างจริงจัง รายได้จาก Tariffs จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

สำหรับในระยะยาว เริ่มมีผลการศึกษาที่น่าสนใจออกมาเช่นกัน โดยการศึกษาของ Wharton มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเมินคร่าวๆ ว่า รายได้สหรัฐจาก Tariffs จะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 4 - 5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 4.5 - 5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เทียบกับการขาดดุลการคลังสหรัฐ 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว ก็จะช่วยปิด Gap เรื่องนี้ไปได้ประมาณ 50%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับหนี้ภาครัฐของรัฐบาลสหรัฐที่มีอยู่ประมาณ 31 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่ายังไม่มากพอจะช่วยชะลอไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนอดีต และช่วยให้มีช่องให้ท่าประธานาธิบดีไปลดภาษี No Tax on Tips, No Tax on Overtimes, No Tax on Social Securities ตามที่สัญญาไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำลังจะออกมาประกาศใช้เร็วๆ นี้ รวมทั้ง ช่วยสร้างแรงจูงใจให้หลายบริษัทมาลงทุนผลิตในสหรัฐ ที่ล่าสุดมีตัวเลขแสดงความจำนงค์ประมาณ 5-6 ล้านล้านดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม President Trump ถึงไม่ยอมยกเลิกเรื่อง Tariffs ไปเลย และไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ถึงมีตัวเลข 10% ออกมาตลอดเวลา

10% สำหรับทุกประเทศ ภายใต้ Reciprocal Tariffs แม้จะเป็นประเทศที่สหรัฐเกินดุลการค้าด้วย หรือเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางการค้าเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์

10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้ชะลอออกไป 90 วัน ภายใต้ Reciprocal Tariffs

10% สำหรับสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ทั้งๆ ที่เจรจากันแล้ว และอังกฤษก็ยอมไปหลายอย่างแล้ว

10% สำหรับสินค้าจีน ในช่วง PAUSE 90 วัน

โดยดีลต่อๆ ไปก็จะทำให้ภาพชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ท่านประธานาธิบดีคงขีดเส้นไว้สำหรับทีมเจรจาสหรัฐ สั่งให้ยอมได้หลายๆ อย่าง แต่ว่าต่ำสุดต้องคิด Tariffs ที่ 10% ให้ได้ !!!

มารอดูกันครับว่า ท้ายที่สุดแล้ว ในกลุ่มประเทศที่ถูกคิดเกิน 10% อัตราจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร และกรณีจีน หลัง 90 วัน จะไปจบที่อัตราอะไร

เพราะล่าสุด สินค้าชิ้นเล็กๆ จากจีน ที่ราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ (ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 90% ของเรือขนส่งสินค้าจากจีนที่เข้ามาที่ท่าเรือสหรัฐ) ไม่ได้รับการยกเว้นภายใต้สิ่งที่ตกลงกันที่เจนีวาให้เหลือ 10% แต่ต้องจ่ายภาษี 10+10+34 = 54% !!!

ทั้งหมด จะเป็นโครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐที่กำลังค่อยๆ เฉลยออกมา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตการส่งออกไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี ว่าจะไปได้ไหม และเป็นตัวกำหนดว่า China Flooding จะเข้ามาที่เราแค่ไหน หมายความว่า เราคงต้องมีทีมเร่งหาตลาดใหม่ๆ ในช่วงที่เหลือ เตรียมไว้เป็นทางออกที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา เผื่อเอาไว้ด้วยครับ

‘เอกนัฏ’ สั่งลุยล้างบาง 3 โรงงานรีไซเคิล นอมินี จ.ชลบุรี อายัดวัตถุอันตรายกว่า 550 ตัน พร้อมฟันโทษอาญาอ่วม

(15 พ.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ “ทีมสุดซอย” พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ลงพื้นที่ บริษัท เจี๋ยเซ่ง พลาสติก จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 88/2 หมู่ที่ 5 ต.หนองรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ประกอบกิจการผลิตเม็ดพลาสติก บด ย่อย พลาสติก ทำผลิตภัณฑ์จากพลาสติก อัดเศษโลหะ อัดกระดาษ ทำยางแผ่น และบริษัท ติงซิ่ง (ไทย-จีน) เมทัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ประกอบกิจการ บด ล้าง ร่อน จำพวกเศษพลาสติก เศษโลหะ และติดตั้งเครื่องจักร โดยพบว่ามีการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต 

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบโรงงานทั้งสองแห่งเป็นโรงงานของนายทุนจีนถือหุ้นร่วมกับคนไทย โดยพบว่าบริษัท เจี๋ยเซ่งฯ มีใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ประกอบกิจการไม่ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต และตรวจสอบพบวัตถุต้องสงสัย จำนวน 300 ตัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดอายัดไว้  รวมทั้งเครื่องจักรที่ใช้ในการบดย่อยโลหะ ส่วนบริษัท ติงซิ่งฯ พบว่าเป็นโรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต และพบการลักลอบประกอบกิจการ มีการครอบครองวัตถุอันตรายที่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว รวมกับเศษสิ่งของไม่สามารถระบุชนิดกว่า 250 ตัน และยังพบร่องรอยการนำเศษพลาสติกที่บดย่อยมาถมดินข้างบ่อน้ำภายในโรงงาน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในดินและแหล่งน้ำ อาจเป็นอันตรายกับชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียงได้ ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี จึงแจ้งความดำเนินคดีกับทั้งสองบริษัท ใน 3 ข้อหาที่ สภ.เมืองชลบุรี ได้แก่ 1. ตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ครอบครองวัตถุอันตราย โทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากวัตถุอันตรายที่พบมีมากกว่า 250 ตัน  ซึ่ง 2 บริษัท มีน้ำหนักรวมกว่า 550 ตัน จึงส่งเรื่องให้ DSI เพื่อดำเนินคดีและขยายผลการลักลอบนำเข้าและเครือข่ายนอมินีต่อไป พร้อมเก็บตัวอย่างส่งไปยังศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก กรอ. เพื่อทำการตรวจพิสูจน์หาส่วนประกอบและสิ่งปนเปื้อนต่อไป 

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวต่ออีกว่า “ทีมสุดซอย” ได้ลงพื้นที่ต่อไปยัง บริษัท ชัยเมธี จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 69 ม.6 ต.หนองหงษ์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ประกอบกิจการคัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย และทำเม็ดพลาสติก พบว่ามีการลักลอบประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำกากตะกรันจากเตาหลอมโลหะ มาบดย่อยและร่อนแยกทองแดงจากกากตะกรัน เพื่อนำทองแดงที่ได้ไปจำหน่ายต่อ ส่วนกากที่เหลือส่งให้บริษัทอื่นไปบดย่อย โดยภายในพื้นที่โรงงานพบกองวัตถุดิบและสิ่งปฏิกูลจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จึงได้เก็บตัวอย่างเพื่อทำการตรวจสอบ 

“รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้มีนโยบายให้เร่งรัดจัดการกับโรงงานรีไซเคิลเถื่อนที่ลักลอบประกอบกิจการอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครอบครองวัตถุอันตรายที่เป็นโลหะหนัก สามารถปนเปื้อนในแหล่งน้ำและดิน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอันตรายกับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบการเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายโรงงานที่มีความผิดและได้ดำเนินการเอาผิดไปแล้ว จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันติดตามและขยายผลไปยังบริษัทหรือโรงงานที่คาดว่าจะมีความเกี่ยวพันกัน เพื่อกวาดล้างเอาผิดถึงต้นตอต่อไป” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ เยือนลาวหารือลงทุนไฟฟ้าระหว่างรัฐ ปัดหนีหมายเรียก ป.ป.ช. - พบหมายเรียกส่งโดยมิชอบ

‘พีระพันธุ์’ เยือนลาวเจรจาแนวทางลงทุนพลังงานไฟฟ้าระหว่างภาครัฐ ตัดทอนตัวกลางภาคเอกชน ช่วยลดต้นทุนพลังงานสะอาด จับโป๊ะ ป.ป.ช. ส่งหมายเรียกผิด

(15 พ.ค. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามคำเชิญของนายโพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม 2568 เพื่อหารือเรื่องพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของไทยและ สปป.ลาว ทั้งนี้เพื่อให้ได้ราคาพลังงานที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ของสองประเทศ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง และจะมีการพบปะกับ นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ด้วย

ในการนี้ นายพีระพันธุ์ได้พบหารือกับ นายโพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ และคณะ เพื่อติดตามความคืบหน้าของข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่างไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางในการลงทุนของบริษัท EGATi  หรือ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทในกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะเน้นลงทุนใน สปป.ลาว จากเดิมที่ลงทุนหลากหลายประเทศและหลายธุรกิจ เนื่องจากประเทศไทยรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว อยู่แล้ว ซึ่งหากมีการลงทุนร่วมกันระหว่าง กฟผ. และ สปป.ลาวโดยตรง แทนที่จะซื้อจากเอกชนก็จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และทำให้ประเทศไทยได้ไฟฟ้าสะอาดและราคาต้นทุนที่ถูกลงเพราะเป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจของไทยเองและเหมือนซื้อไฟฟ้าจากตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การเยือน สปป.ลาว ของนายพีระพันธุ์ในครั้งนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียกไปรับข้อกล่าวหาของคณะกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ตามที่สื่อหลายสำนักได้นำเสนอแต่อย่างใด  โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า หมายเรียกของ ป.ป.ช. แท้ที่จริงแล้วไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการส่งหมายโดยไม่ชอบ  และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เองก็ยอมรับว่ามีความผิดพลาดในการส่งหมายเรียกไปยังนายพีระพันธุ์ จึงต้องถือว่ายังไม่มีหมายเรียก

‘พีระพันธุ์’ บินถกซื้อไฟฟ้าตรงจาก สปป. ลาว หลังพบบางเขื่อนผลิตไฟกำลังทยอยหมดสัมปทาน

(14 พ.ค. 68) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำลังเดินไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ตามคำเชิญของนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาวในวันที่ 14-15 พ.ค. 68

ทั้งนี้ ทางสปป.ลาว ได้มอบหมายให้สะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรี และดร.คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีพลังงาน และเหมืองแร่เป็นผู้เจรจาหารือ

การเดินทางไปดังกล่าวเป็นไปตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ครั้งนี้ จุดประสงค์หลักเพื่อการเจรจาซื้อไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากมีบางเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่จะทยอยหมดสัมปทาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้จะมีผู้ที่เข้าไปขอสัมปทานเพื่อนำมาขายให้ไทยอีกทอดหนึ่ง

“เมื่อสามารถซื้อไฟจาก สปป. ลาวได้โดยตรงก็จะทำต้นทุนลดลง ซึ่งก็จะมีผลทำให้ช่วยลดค่าไฟฟ้าในประเทศได้ เนื่องจากการรับซื้อไฟแต่เดิมจาก สปป.ลาว จะต้องผ่านโบรกเกอร์ หรือคนกลางก่อนที่จะมาถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงทำให้ราคารับซื้อสูง”

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวต่ออีกว่า นายพีระพันธุ์พอจะรับทราบปัญหาดังกล่าวในการรับซื้อไฟที่ผ่านคนกลาง ซึ่งมีผลทำให้ราคารับซื้อสูง จึงพยายามหาทางเจรจาให้ค่าไฟให้ถูกลง

อย่างไรก็ดี หากถามว่าจะสามารถซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาวได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยไทยมีความพร้อม และไม่มีปัญหาเรื่องการซื้อไฟจำนวนมากหากสามารถทำได้ โดยมองว่าอะไรที่ถูก ไทยจะไม่ผลิตเอง

‘นิสสัน’ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน เพิ่มอีก 11,000 คนทั่วโลก พร้อมปิดโรงงาน 7 แห่ง หลังยอดขายทรุดหนัก แผนควบรวมกับ ‘ฮอนด้า’ ก็ล่ม

(14 พ.ค. 68) นิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติม 11,000 คน และปิดโรงงาน 7 แห่งทั่วโลก หลังจากยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจีนและสหรัฐฯ สองตลาดหลักที่มีการแข่งขันสูงและมีแรงกดดันด้านราคา ทำให้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรายได้ของบริษัท พร้อมกันนี้การควบรวมกิจการกับฮอนด้าและมิตซูบิชิที่คาดว่าจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ก็ล้มเหลวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

การปลดพนักงานครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุนอย่างเข้มข้น ซึ่งรวมถึงการลดการผลิตทั่วโลกลง 20% ส่งผลให้ยอดเลิกจ้างสะสมในปีที่ผ่านมาพุ่งแตะ 20,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 15% ของกำลังพลทั้งหมด โดยสองในสามของตำแหน่งที่ถูกตัดจะอยู่ในภาคการผลิต ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสายงานขาย งานบริหาร และงานวิจัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ นายอีวาน เอสปิโนซา ระบุว่า ปีงบประมาณที่ผ่านมานับเป็นปีที่ท้าทายที่สุดของบริษัท ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยนิสสันรายงานผลขาดทุนประจำปีถึง 670,000 ล้านเยน (ราว 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ บริษัทยังไม่สามารถให้แนวโน้มรายได้ในปีหน้าได้ เนื่องจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ยังคงไม่มีความชัดเจน

นอกจากการปลดพนักงาน นิสสันยังยกเลิกแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดหลักอย่างจีนเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากผู้ผลิตท้องถิ่น เช่น BYD ส่วนในสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็ฉุดรั้งยอดขายรถใหม่ แม้จะมีการฟื้นตัวเล็กน้อยในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลอังกฤษกำลังจับตาว่าโรงงานในเมืองซันเดอร์แลนด์จะได้รับผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างนี้หรือไม่

ไทย เดินหน้าตุนทองคำต่อเนื่อง ยังยืนหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน หลังไตรมาสแรกซื้อเพิ่มอีก 17%

ไทย เดินหน้าตุนทองคำต่อเนื่อง ยังยืนหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน หลังไตรมาสแรกซื้อเพิ่มอีก 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ITEL ผนึกกำลัง สทป. เปิดตัวบริษัทร่วมทุน 'NDC' เสริมแกร่งเทคโนโลยี - อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จับมือ อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จัดตั้ง 'บริษัท เนชันแนล ดีเฟนส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด' หรือ NDC รุกธุรกิจการสื่อสารเพื่อความมั่นคง สนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย หวังช่วยยกระดับเทคโนโลยีความมั่นคงของประเทศด้วยนวัตกรรม IoT, AI, และ Big Data Analytics

เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.68) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) และ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้ง 'บริษัท เนชันแนล ดีเฟนส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (NATIONAL DEFENSE CORPORATION LTD.)' หรือ NDC มุ่งพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความมั่นคง พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยอย่างเต็มรูปแบบ

พิธีลงนามสัญญาร่วมทุนดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องราชเสนีพิทักษ์ ชั้น 10 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (แจ้งวัฒนะ) โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นประธานในพิธี ผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย พลเอก ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)

บริษัทร่วมทุนใหม่ 'NDC' จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นให้บริการเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) โซลูชันดิจิทัล (Digital Solutions) รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย เช่น Internet of Things (IoT), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Cloud Computing และ Big Data Analytics

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการผสานจุดแข็งของทั้งสองหน่วยงาน โดย สทป. มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาระบบงานด้านความมั่นคง ขณะที่ ITEL เป็นภาคเอกชนที่มีศักยภาพสูง มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยระดับประเทศ และประสบการณ์ยาวนานในธุรกิจ ICT การก่อตั้ง NDC จึงเป็นการบูรณาการศักยภาพของทั้งสององค์กร เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งมอบเทคโนโลยีสารสนเทศและโซลูชันด้านความปลอดภัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาครัฐและหน่วยงานด้านความมั่นคงได้อย่างแท้จริง

ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ ITEL ได้มีโอกาสร่วมงานกับ สทป. ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน NDC ยกระดับบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับงานด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะได้นำความเชี่ยวชาญด้านโครงข่ายของเรา มาสนับสนุนภารกิจของประเทศในมิติที่สำคัญ”   

ดร.ณัฐนัย ยังกล่าวเสริมอีกว่า “เราเชื่อมั่นว่า NDC จะไม่เพียงแต่เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของภาครัฐ แต่ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อความมั่นคงในภูมิภาค เราพร้อมให้การสนับสนุนทั้งด้านการบริหารจัดการบุคลากร และเทคโนโลยี เพื่อให้ NDC ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว”

บริษัทฯ มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกประสิทธิภาพสูงที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และประสบการณ์ในการให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน การร่วมทุนนี้จะเปิดโอกาสให้ ITEL ต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่ระบบสื่อสารเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และการพัฒนาแพลตฟอร์มเมืองอัจฉริยะที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อรองรับภารกิจด้านความมั่นคงระดับชาติอย่างยั่งยืน

การจัดตั้ง NDC มุ่งหวังให้เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีความมั่นคง ทั้งในมิติปัจจุบันและการวางรากฐานสำหรับอนาคต โดยเชื่อมั่นว่า NDC จะมีบทบาทสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ ไม่เพียงแต่รับมือกับภัยคุกคามจากภายนอก แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยภายในประเทศ และยกระดับความมั่นคงแห่งชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของ ITEL ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดความมั่นคงที่มีศักยภาพสูง ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญเดิม และสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ให้กับบริษัท

‘วิชัย ทองแตง’ หนุนความร่วมมือ ไทย – เนเธอร์แลนด์ ผนึกกำลังสร้างอุตสาหกรรมเกษตรคาร์บอนต่ำ

เมื่อวันที่ (12 พ.ค. 68) นายวิชัย ทองแตง ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ในโอกาสที่ กลุ่มธุรกิจเครือ Green Standard-Thailand ลงนามความร่วมมือกับ Agritronika-The Netherlands สร้างอุตสาหกรรมเกษตรด้วยเทคโนโลยี Digital-AI และ Automation-Robotic เพื่อสร้างธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรคาร์บอนต่ำ (Mitigation) และ Food Security (Adaptation) ให้กับประเทศไทยในยุคที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่การวางแผนทางการเกษตร/เกษตรอุตสาหกรรมที่ advance ที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง สมดังเจตนารมณ์ของนายวิชัย ทองแตงสืบไป

ทั้งนี้ ภาวะโลกร้อน นับเป็นมหันตภัยที่รุนแรงต่อมนุษยชาติ ซึ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เข้ามาบริหารจัดการระบบเพาะปลูกในทุกขั้นตอนเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้มั่นคง ปลอดภัย และได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการนำเครื่องจักร หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรมต่าง ๆ ในการควบคุมการเกษตร นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาคการเกษตรสามารถช่วยโลกในด้านการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก และขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มผลผลิตที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชาวโลกด้วย

ครม.ไฟเขียวออก 'Thailand Digital Token' ระดมทุนรูปแบบใหม่ G-Token ประเดิม 5 พันล้านบาท คาดจะสามารถออกได้ภายใน 2 เดือนนี้

(13 พ.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนจะออกเครื่องมือระดมทุนแบบใหม่ของภาครัฐ คือ Thailand Digital Token หรือ โทเคนดิจิทัลของภาครัฐ (G Token)  เพื่อเป็นทางเลือกการออมให้กับประชาชน เพิ่มเติมจากรูปแบบเดิมที่มีการออก ‘พันธบัตรออมทรัพย์’ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนรายย่อยได้มากขึ้น ให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน และสามารถลงทุนในจำนวนน้อยได้ โดยคาดว่าจะทดลองระบบด้วยการออกงวดแรกราว 5 พันล้านบาท บวก/ลบ ภายใน 1-2 เดือนนี้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รับทราบความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพิจารณาแล้วว่า โทเคนดังกล่าว จะไม่ได้นำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) และจะทำในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่รายย่อยจะสามารถนำโทเคนไปแลกเปลี่ยนมือได้ผ่านระบบ Exchange ที่มีอยู่ได้

นายพิชัย อธิบายว่า สำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่จะในการออกตราสารให้กับสถาบันและประชาชน ในการระดมเงิน ถือเป็นส่วนหนึ่งในการระดมเงินในส่วนที่ขาดดุล โดยทั่วไปมีการออกพันธบัตรให้สถาบัน ไม่ว่าจะเป็นการออมออกพันธบัตรออมเงินให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นช่องทางเดิม ๆ ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่า จะทำช่องทางใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน เลยมีการออกเครื่องมือการระดมทุนให้กับรัฐบาล โดยเป็น ’ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน‘ คือผู้ถือหน่วย หรือเครื่องมือการลงทุน จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนด้วยการฝากเงิน และถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้เป็นประเภทแบบคริปโต ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ โดยข้อดีประชาชนสามารถที่จะลงทุนได้แม้จะลงทุนน้อย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top